ประวัติและความเป็นมา

คณะมนุษยศาสตร์เป็นองค์กรการศึกษาที่พัฒนามาจากส่วนงานหนึ่งของโรงเรียนฝึกหัดครูชั้นสูง ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2492 ต่อมาในปี พ.ศ. 2497 โรงเรียนฝึกหัดครูชั้นสูงได้รับการสถาปนาเป็นวิทยาลัยวิชาการศึกษา ซึ่งมีการจัดระบบการศึกษาแบบวิทยาเขต โดยมีวิทยาลัยวิชาการศึกษา ประสานมิตร เป็นศูนย์กลางการบริหาร วิทยาลัยวิชาการศึกษา ประสานมิตร ประกอบด้วยคณะวิชาต่างๆ 4 คณะ ได้แก่ 1) คณะวิชาการศึกษา 2) คณะวิชาวิจัยการศึกษา 3) คณะวิชาวิทยาศาสตร์ และ 4) คณะวิชามนุษยธรรมศึกษาและสังคมศาสตร์ โดยมีหัวหน้าคณะวิชารับผิดชอบงานบริหารและงานวิชาการ ต่อมาวิทยาลัยวิชาการศึกษาได้รับการยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ในวันที่29 มิถุนายน พ.ศ. 2517 มีพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการจัดตั้งให้เป็นคณะ จึงได้มีการแยกคณะวิชามนุษยธรรมศึกษาและสังคมศาสตร์ออกเป็น 2 คณะ คือ คณะมนุษยศาสตร์และคณะสังคมศาสตร์คณะวิชาการศึกษาเปลี่ยนเป็นคณะศึกษาศาสตร์  ส่วนคณะวิชาวิทยาศาสตร์เปลี่ยนเป็นคณะวิทยาศาสตร์ 

คณะมนุษยศาสตร์จัดตั้งตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการแบ่งส่วนราชการภายในมหาวิทยาลัยฯ เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2518 ปัจจุบันคณะมนุษยศาสตร์แบ่งโครงสร้างหน่วยงานภายในออกเป็น 4 หน่วยงาน ดังนี้ 1) สำนักงานคณบดีคณะมนุษยศาสตร์ ทำหน้าที่สนับสนุนการดำเนินงานพื้นฐาน/ธุรการ ของคณะในทุกๆพันธกิจ 2) ศูนย์การศึกษาระดับปริญญาตรี ทำหน้าที่กำกับการดำเนินงานของหลักสูตรในระดับปริญญาตรี 3) ศูนย์การศึกษานานาชาติ ทำหน้าที่กำกับการดำเนินงานของหลักสูตรนานาชาติ 4) ศูนย์การศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา ทำหน้าที่กำกับการดำเนินงานของหลักสูตรในระดับบัณฑิตศึกษา

ปัจจุบันคณะมนุษยศาสตร์เป็นหน่วยงานหลักของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ที่รับผิดชอบในการผลิตบัณฑิต มหาบัณฑิต และดุษฎีบัณฑิตสาขามนุษยศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านภาษา โดยมีสัดส่วนของนิสิตที่เรียนในหลักสูตรสาขาภาษาไทยและสาขาภาษาต่างประเทศ ในแต่ละปีคิดเป็นประมาณร้อยละ 70 จากจำนวนหลักสูตรทั้งหมด 20 หลักสูตร  มีจำนวนนิสิตทั้งหมด 2,749 คน ซึ่งนับเป็นคณะที่มีจำนวนนิสิตมากที่สุดของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ  ประกอบด้วยบุคลากรสายวิชาการ ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ และบุคลากรสายสนับสนุนวิชาการ

ภายหลังการเปลี่ยนสถานภาพมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ คณะฯ มีพัฒนาการหลากหลายด้าน ได้แก่ การปรับโครงสร้างองค์กรครั้งใหญ่ การเพิ่มจำนวนหลักสูตรและประเภทของหลักสูตรมุ่งสู่ความเป็นนานาชาติ การบริหารจัดการงบประมาณเงินรายได้และเงินสะสมของคณะฯ ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งได้นำมาจัดสรรพัฒนาอาคารเรียนใหม่ของคณะมนุษยศาสตร์ สูง 17 ชั้น (อาคาร 38) เพื่อสนับสนุนภารกิจหลัก ซึ่งนำมาสู่การปรับเปลี่ยนวิสัยทัศน์ของคณะฯ และมีการพัฒนาหลักสูตรนานาชาติซึ่งเป็นหลักสูตรใหม่ 3 หลักสูตร  เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงาน ประเด็นยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัย นอกจากนี้คณะฯ ยังเป็นผู้บุกเบิกการจัดสรรงบประมาณเงินรายได้เพื่อให้ทุนนิสิตไปอบรมด้านภาษาอังกฤษในต่างประเทศ และเพิ่มจำนวนทุนให้นิสิตไปศึกษาภาษาต่างประเทศอื่นๆ เป็นการเพิ่มขีดความสามารถด้านภาษาอังกฤษและภาษาต่างประเทศของนิสิต

ปัจจุบันคณะมนุษยศาสตร์มีหลักสูตรเปิดสอนรวมทั้งสิ้น 20 หลักสูตร แบ่งเป็น

1.     ศศ.บ. ภาษาตะวันออก 

- วิชาเอกภาษาญี่ปุ่น

- วิชาเอกภาษาจีน

- วิชาเอกภาษาเกาหลี

2.     ศศ.บ. ภาษาอังกฤษ

3.     ศศ.บ. ปรัชญาและศาสนา

4.     วท.บ. จิตวิทยา

5.     ศศ.บ. สารสนเทศศึกษา

6.     ศศ.บ. ภาษาไทย (สาขาภาษาและวรรณคดีไทย)

7.     ศศ.บ. วรรณกรรมสำหรับเด็ก

8.     กศ.บ. ภาษาไทย (5 ปี)

9.     กศ.บ. ภาษาอังกฤษ (5 ปี)

10. ศศ.บ. ภาษาเพื่ออาชีพ (หลักสูตรนานาชาติ)

11. ศศ.บ. ภาษาเพื่อการสื่อสาร (หลักสูตรนานาชาติ)

- วิชาเอกภาษาอังกฤษ - ภาษาฝรั่งเศส

- วิชาเอกภาษาอังกฤษ - ภาษาเยอรมัน

- วิชาเอกภาษาอังกฤษ - ภาษาเวียดนาม

- วิชาเอกภาษาอังกฤษ - ภาษาเขมร

12. ศศ.บ. ไทยศึกษา (นิสิตชาวต่างประเทศ)

13. ศศ.ม. ภาษาอังกฤษ

14. ศศ.ม. สารสนเทศศึกษา

15. ศศ.ม. จิตวิทยาพัฒนาการ

16. ศศ.ม. ภาษาไทย

17. ศศ.ม. ภาษาศาสตร์

18. ศศ.ด. ภาษาอังกฤษ 

19. ปร.ด. ภาษาศาสตร์/ภาษาและการสื่อสารสากล

20. ศศ.ด.ภาษาไทย